อยากใช้คอมพิวเตอร์ให้เป็น จะต้องทำอย่างไรกันบ้าง เริ่มต้นจากตรงนี้
หลาย ๆ คนที่ได้มีโอกาสใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์ ก็ทำได้แค่เพียงใช้ซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในเครื่องสำเร็จรูปแล้วเท่านั้น วันดีคืนดี เจ้าคอมพิวเตอร์เครื่องเก่งมีอันต้องเกิดปัญหาขึ้นมา ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร หากคุณพอจะรู้จักกับอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์นั้นบ้าง คงจะช่วยได้มากใช่ไหมครับ
นี่คือจุดเริ่มต้นของผม ที่ได้ทำเว็บเพจนี้ขึ้นมา โดยที่จุดประสงค์หลักคือ อยากให้คนไทยทุก ๆ คนได้มีโอกาสรู้จักกับ คอมพิวเตอร์ ให้มากขึ้นและสามารถจัดการ หรือแก้ไขเมื่อเกิดปัญหาต่าง ๆ ด้วยตัวเองได้ แต่ก็ต้องออกตัวไว้ก่อนเลยครับว่า งานที่ผมเกลียดมากที่สุดคือการเป็นครู รู้สึกว่าการสอนคนอื่นให้รู้เหมือนเรา ช่างเป็นงานที่ทำได้ยากยิ่งนัก ในอีกด้านหนึ่ง สิ่งที่ผมชอบมากที่สุดคือ คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต ซึ่งนับวันก็ยิ่งรู้สึกว่า ช่างเป็นการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่รู้จักจบสิ้น เมื่อนำเอาทั้งสองอย่างนี้มารวมกัน จึงออกมาเป็นเว็บเพจนี้ ซึ่งอาจจะดูสับสน วุ่นวาย ผสมผสาน ปนเป กันไปเรื่อย ๆ โดยที่ตัวผมเองก็ได้พยายามหาข้อบกพร่อง และทำการอัพเดทข้อมูลในเว็บเพจอยู่เสมอ แต่อาจจะได้ไม่ครบถ้วนนัก
เหมือน บ่น ๆ ยังไงไม่ทราบนะครับ เข้าเรื่องของเนื้อหาในหน้านี้กันดีกว่า วันนี้จะขออนุญาตแนะนำ วิธีการหรือหลักการศึกษา คอมพิวเตอร์ สำหรับมือใหม่ที่สนใจ ต้องการเรียนรู้การทำงานและการใช้งานจริง ๆ (ต้องย้ำว่าจริง ๆ ครับ) จากหน้าแรกของเว็บเพจนี้ จะเห็นว่าผมพยายามแบ่งหัวข้อออกเป็นส่วนต่าง ๆ เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ไม่สับสน ซึ่งแต่ละหน้า อยากจะให้ได้อ่านกันทุก ๆ คน แต่ในความเป็นจริงแล้ว เชื่อว่าคงจะไม่มีใครมาอ่านเว็บของผมทุกหน้า ส่วนมากก็จะอ่านแต่เฉพาะ ในหน้าที่มีเรื่องที่สนใจอยู่เท่านั้น ดังนั้น ถ้าใครที่คิดจะเริ่มต้นศึกษาอย่างจริงจัง ก็ขอนำมาสรุปไว้ในหน้านี้ทั้งหมด ตั้งแต่ต้นจนจบไปเลยครับ
อย่างไรจึงจะเรียกว่า ใช้คอมพิวเตอร์เป็น
คำ ถามแรกเลย คุณใช้คอมพิวเตอร์เป็นหรือยัง คงจะไม่มีคำตอบที่แน่นอนตายตัว ว่าอย่างไรเรียกว่าเป็นนะครับ ในความคิดเห็นของผม หากคุณสามารถบอกได้ทั้งหมดว่า เครื่องคอมพิวเตอร์นั้น มีสเปคอย่างไร ใช้ซีพียู ความเร็วเท่าไร ขนาดของแรม ชนิดของการ์ดจอและการ์ดเสียง อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ต่อใช้งานอยู่ ระบบปฏิบัติการ และซอฟต์แวร์ ที่ใช้งานอยู่มีอะไรบ้าง และที่สำคัญมากคือ จากจุดเริ่มต้น ถ้าฮาร์ดดิสก์ของคุณไม่มีอะไรอยู่เลย คุณสามารถที่จะลง Windows และโปรแกรมต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเองจบครบ ตามที่ต้องการใช้งานได้ สามารถใช้งานซอฟต์แวร์ ต่าง ๆ ตามความจำเป็น อาจจะไม่ต้องครบทุกอย่าง นั่นแหละ เรียกว่าใช้คอมพิวเตอร์เป็นในความคิดของผมครับ ลองสำรวจตัวคุณเองก่อน ว่าตอนนี้อยู่ในขั้นไหน ตรงไหนรู้แล้ว ตรงไหนยังไม่รู้ครับ
ลำดับการเริ่มต้นเรียนรู้คอมพิวเตอร์
มาดูลำดับการเริ่มต้นศึกษาหาความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์ก่อน ลองศึกษาทีละขั้นตอน อย่าข้ามนะครับ
1. ศึกษาการใช้งาน Windows ในเบื้องต้น โดยที่ควรจะสามารถใช้งานฟังค์ชันต่าง ๆ พื้นฐานได้พอสมควร
2. ศึกษาการใช้งาน ซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ที่มีมากับเครื่อง เท่าที่คิดว่าจำเป็นและต้องการใช้งานเช่น internet, word, excel ฯลฯ
3. อุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น printer, scanner, modem ที่มีต่ออยู่ ต้องรู้จักและใช้งานได้เต็มความสามารถ
4. สามารถทำการลงซอฟต์แวร์ใหม่ ๆ และทำการ Uninstall ออกได้ เน้นที่ซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ยังไม่ถึงกับลง Windows ใหม่นะ
5. เริ่มต้นหัดลง Windows ด้วยตัวเอง จากการฟอร์แม็ตฮาร์ดดิสก์ ลบข้อมูลออกทั้งหมดและลง Windows ได้จนครบ
6. สามารถจัดการกับ ฮาร์ดดิสก์ ได้ตามต้องการ เช่นการกำหนดขนาด การแบ่งพาร์ติชันต่าง ๆ ตามต้องการ
7. เริ่มต้น การรื้อ ถอด ประกอบ ชิ้นส่วนฮาร์ดแวร์ต่าง ๆ ของคอมพิวเตอร์ โดยเริ่มจากสายไฟต่าง ๆ สายจอ สายเมาส์ ฯลฯ
8. เปิดฝาเครื่อง ลองสำรวจอุปกรณ์ภายใน และทำความรู้จักว่า ชิ้นไหนคืออะไร ใช้สำหรับทำอะไร (มองเฉย ๆ อย่าเพิ่งรื้อนะครับ)
9. ตรวจสอบสเปคเครื่องอย่างละเอียด ว่าใช้อุปกรณ์ยี่ห้ออะไร รุ่นไหน ขนาดเท่าไรบ้าง เป็นบทเรียนเริ่มต้นด้านฮาร์ดแวร์นะครับ
10. เริ่มต้นการถอดเปลี่ยน ฮาร์ดดิสก์ ก่อน ศึกษาการต่อสายไฟ และสายข้อมูลต่าง ๆ (ฮาร์ดดิสก์ จะเป็นจุดแรกที่ควรทราบไว้)
11. หลังจากรู้จักฮาร์ดดิสก์ แล้ว การศึกษาตัว ซีดีรอม ฟลอปปี้ดิสก์ ก็คงจะไม่ยากนัก
12. ถ้ามีการ์ด ต่าง ๆ ที่เสียบอยู่บนเมนบอร์ด เช่นการ์ดจอ การ์ดเสียง โมเด็ม การทดลอง ถอด ใส่ ก็เป็นอีกบทเรียนหนึ่งที่ดีมาก ๆ
13. ซีพียู แรม ทดลองแงะออกมา แล้วใส่กลับเข้าไปใหม่ ให้คุ้นเคยมือเลยครับ
14. อุปกรณ์อื่น ๆ สายไฟของระบบ สายแพร สายเสียง ฯลฯ ดูให้ครบว่ามีอะไรบ้าง
15. สังเกตุ jumper ต่าง ๆ และลองเปิดคู่มือเมนบอร์ดมาอ่านดู ว่าแต่ละตัวใช้สำหรับทำอะไรบ้าง
16. นึกภาพ ว่าถ้าจะอัพเกรดเครื่อง เปลี่ยน ซีพียูใหม่ เพิ่มแรม ฯลฯ ต้องทำอะไรบ้าง หรือถ้ามีซีพียูตัวใหม่จริง ๆ ก็ลุยกันเลยครับ
17. ทำได้แค่นี้ ก็ถือว่าเก่งแล้วครับ ถ้าจะให้ดี ต้องถอดทุกชิ้นส่วนออกมา แล้วประกอบใหม่ ถ้าเครื่องใช้งานได้ แปลว่าคุณสอบผ่าน
18. หากสนใจเรื่องอินเตอร์เน็ต ก็ลองเขียนเว็บไซต์เป็นของตัวเองขึ้นมาซักเว็บนึง อาจจะมีไอเดียดี ๆ เกิดขึ้นต่อเนื่องได้ครับ